วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

เรียนภาษาอังกฤษ


คำลวงภาษาอังกฤษ

ในกระบวนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษนั้นไม่ว่าผู้เขียนจะเรียนอยู่ในระดับใดหรือแม้แต่ผู้ที่คิดว่าเรียนมามากแล้วและใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันเพื่อประกอบกิจการงานต่างๆ ซึ่งต้องมีการถ่ายทอดภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยซึ่งรวมแล้วก็คือการแปลนั่นเอง ไม่ว่าจะแปลข่าว แปลบทภาพยนตร์ หรือแปลหนังสือ เป็นต้น ควรจะมีความสังวรณ์และระวังอยู่อย่างหนึ่ง คือ ภาษาอังกฤษ (ในภาษาอื่นๆ ก็คงมีลักษณะเช่นนี้) มีคำมากมายที่ไม่ได้มีคำแปลอย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ซึ่งมักจะเป็นความหมายแรกที่รู้จักเมื่อเรียนคำนั้นๆ ยังมีผู้ที่มักจะจดจำความหมายเช่นนั้นแล้วนำมาแปลคำภาษาอังกฤษเหล่านั้น คือทุกครั้งที่พบเห็นคำนั้นก็จะแปลเป็นความหมายที่รู้อยู่อย่างนั้นเสมอไป ความจริงแล้วเรื่องนี้แก้ไขได้ ถ้าผู้แปลมีความระวังโดยดูจากความข้างเคียงว่าถ้าแปล โดยใช้ความหมายที่เข้าใจกันอยู่แล้วจะได้ความหรือไม่ ประกอบกับการเปิดพจนานุกรมดีๆ โดยเฉพาะ ฉบับภาษาอังกฤษเป็นอังกฤษ และพิจารณาให้ถี่ถ้วน จะเห็นว่าคำจำนวนมากมีความหมายมากกว่า หนึ่งความหมาย ผู้แปลควรดูให้รอบคอบว่าในบรรดาความหมายต่างๆของคำๆหนึ่ง คำแปลใดจึงจะใช้ได้เข้ากับคำในภาษาอังกฤษในข้อความที่แปล

บทความนี้ผู้เขียนเขียนขึ้นจากประสบการณ์ของตนเองเป็นส่วนใหญ่ จากการอ่าน ดู และฟังสิ่งที่ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และงานแปลทั่วไป โดยจะยกคำบางคำที่เข้าข่ายเป็นคำที่ลวงให้ผู้แปลเข้าใจผิดเพราะยึดติดกับคำแปลที่ทราบมา ประกอบกับมีความประมาท ผลก็คือแปลผิด ไม่สามารถสื่อความหมายที่แท้จริงให้เข้าใจได้ อีกทั้งยังสร้างความขบขันเป็นอย่างดี คำที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงเป็นคำตั้งแต่คำพื้นๆง่ายๆที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยยังเรียนภาษาอังกฤษไม่แตกฉาน จนถึงคำที่ปรากฏกับคำอื่นในลักษณะที่อาจเรียกว่าเป็นสำนวน

คำแรกที่จะยกมาอาจดูเป็นคำง่ายๆ คือ once ที่มักจะผูกติดกับคำแปลว่าหนึ่งครั้งหรือครั้งหนึ่ง

I’ve met her only once.

ฉันได้พบกับเธอครั้งเดียว (หรือหนึ่งครั้ง) เท่านั้น

Once we lived in France.

ครั้งหนึ่งเราเคยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

ในประโยค Once you know him, you’ll like him. จะแปลว่า ครั้งหนึ่งที่คุณรู้จักเขา หรือ เมื่อคุณได้รู้จักเขาครั้งหนึ่ง ไม่ได้ แต่ต้องแปลว่า เมื่อ หรือจะยิ่งดีขึ้นอีกถ้าแปลว่า ลอง คือ ลองคุณได้รู้จักเขาล่ะก็คุณจะชอบเขา

ส่วน once ที่อยู่กับบุพบท at คือ at once แปลว่าทันที เดี๋ยวนั้นเลย

The manager wants to see you at once.

ผู้จัดการต้องการพบคุณเดี๋ยวนี้เลย

โดยปกติคำว่า so ตามลำพังนอกเหนือจากทำหน้าที่เป็นคำเชื่อมซึ่งแปลว่า ดังนั้น ยังมีความหมายว่า มาก เมื่อขยายคำคุณศัพท์ หรือคำวิเศษณ์ เช่น

The weather is so hot this summer.

หน้าร้อนนี้อากาศร้อนมาก (หรือร้อนเหลือเกิน)

แต่ในประโยค One can eat so much. หรือ One can do so much. จะแปลว่า คนเรา (ไม่ใช่คนหนึ่ง) ก็กินได้เท่านั้น หรือ คนเราก็ทำได้เท่านั้น กล่าวคือ มีขีดจำกัดในการกินหรือการทำสิ่งต่างๆ เช่นพูดในตัวอย่างว่าจะตั้งหน้าตั้งตาหาของแพงๆอร่อยๆมากินมากมายทำไมกระเพาะก็มีขีดจำกัดในการรับอาหาร หรือเห็นอะไรก็จะจับจะทำไปเสียทุกอย่างจนไม่มีเวลาว่างบ้างเลย ทั้งสองตัวอย่างจึงไม่ได้แปลว่ากินหรือทำได้มากเหลือเกิน

คำ then มักจะจำขึ้นใจกันว่าแปลว่า ครั้นแล้ว หรือ หลังจากนั้น ซึ่งแปลเช่นนั้นได้ในประโยคนี้

He lost his wife. Then he came to live with his sister.

ภรรยาเขาตายไป หลังจากนั้นเขาก็มาอยู่กับน้องสาว

แต่ถ้าในประโยคต่อไปนี้ then จะแปลว่า ตอนนั้น

Then he was in his early forties.

ในตอนนั้นเขาอายุสี่สิบต้นๆ

You say he's been living with his sister. He never remarried, then?

ประโยคข้างบนนี้ then มีความหมายว่า ถ้าอย่างนั้น คือแปลว่า คุณว่าเขาอยู่กับน้องสาว มาตลอด ถ้าอย่างนั้นเขาไม่เคยแต่งงานใหม่เลยหรือ

I can't go to the police. What should I do, then?

ฉันไปหาตำรวจก็ไม่ได้ แล้วฉันควรจะทำอย่างไรล่ะ

แล้ว ในที่นี้ไม่ใช่บอกเวลา แต่บอกผลลัพธ์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

คำที่มักเข้าใจผิดอีกคำหนึ่งคือ simply ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ของคำคุณศัพท์ simple ที่มีความหมาย หนึ่งว่าเรียบง่ายหรือง่ายๆ เช่น

This drink is made quite simply.

เครื่องดื่มนี้ทำได้ค่อนข้างง่ายทีเดียว

แต่ simply ไม่ได้แปลว่า อย่างเรียบง่าย เสมอไปดังที่รูปคำปรากฏ ที่ร้านอาหารมีชื่อเสียง เป็นที่นิยมแห่งหนึ่งติดคำขวัญว่า Simply delicious ทำให้บางคนเห็นแล้วก็แปลทันทีว่า อร่อยอย่างเรียบง่าย คือไม่ต้องลำบากยุ่งยากในการกิน หรือคิดว่ากินง่ายๆสะดวกๆก็อร่อยได้ แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดถนัด เพราะในวลีนี้ simply แปลว่า อย่างมาก ซึ่งถ้าพยายามสร้างความรู้สึกจะได้ความรู้สึกเหมือนว่า เป็นอย่างนั้นอย่างเดียว คือบอกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากบอกว่า อร่อยจริงๆอย่างเดียวเท่านั้น หรือ อร่อยสุดจะกล่าว คำ simply ในความหมายนี้อาจจะพ้องกับคำ just ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่า เพียง หรือ แค่ เท่านั้น เช่น Dinner was just delicious. ในที่นี้ไม่ใช่เป็นการบอกว่า อาหารเย็นแค่อร่อยเท่านั้นเอง โดยอาจมีความหมายว่าแต่สิ่งอื่นๆ เช่น สถานที่บรรยากาศ และผู้ร่วมรับประทานด้วยไม่ได้ดีตามอาหาร แต่แท้จริงความหมายของประโยคนี้คือ บอกได้แต่ว่าอาหารเย็นน่ะอร่อยจริงๆ

ยังมีหลายคนที่ใช้คำ just และตามด้วย only เช่นจะพูดว่า I have just only two hundred baht. ในประโยคนี้ผู้พูดอาจแปลทับภาษาไทยว่า เพียงแค่ แต่ในความเป็นจริงแล้วใช้ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าใช้ only just จะไม่ผิด เช่น

We've only just begun.

เราเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

He had only just arrived there when I met him.

เขาเพิ่งจะถึงที่นั่นเองตอนที่ฉันพบเขา

ความหมายที่เราคุ้นเคยของคำ miss มักจะเป็น คิดถึง และ พลาด เช่น พลาดรถ พลาดเครื่องบินหรือแม้แต่พลาดโอกาส

The two boys miss their parents a great deal.

เด็กชายทั้งสองคิดถึงพ่อแม่มาก

She nearly missed her flight.

เธอเกือบพลาดเครื่องบิน

It is such a good opportunity that it would be a pity to miss.

ช่างเป็นโอกาสที่ดีเหลือเกินจนน่าเสียดายถ้าพลาด

หรือหากจะพูดให้เป็นไทยยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ จะน่าเสียดายถ้าพลาดโอกาสดีๆ อย่างนี้

แต่ถ้าในเหตุการณ์ที่อาจารย์บอกนักเรียนที่ไม่ได้เข้าเรียนเมื่อวานว่า

You were missed yesterday.

หรือ

We missed you yesterday.

จริงอยู่ที่คุณไม่มาเราก็อาจจะคิดถึงคุณได้ แต่ไม่จำเป็นเสมอไป ในที่นี้น่าจะแปลว่า เมื่อวาน เราไม่เห็นคุณนะ หรือถ้าจะให้เกิดความรู้สึกแท้จริงในภาษาไทยคงจะพูดว่า เมื่อวานคุณหายไปไหน เพราะการที่คุณควรจะต้องเข้าชั้นเรียนเป็นสิ่งปกติที่พึงกระทำ และเป็นที่คาดหวังของคนอื่นว่าควรเป็นเช่นนั้น

ส่วนประโยค She did not miss her dog until late in the afternoon. ก็ไม่ใช่คิดถึงสุนัข แต่สุนัขของเธออาจจะไปไหนโดยเธอไม่รู้ตัว จึงต้องแปลว่า เธอไม่รู้ว่าสุนัขของเธอหายไป (ไม่ใช่ สูญหาย) จนกระทั่งบ่ายมากแล้ว


บางครั้งการแปลคำภาษาอังกฤษบางคำที่ผู้เขียนได้เห็นได้ฟังจากสื่อต่างๆก็ทำให้งุนงงได้มาก ทีเดียว เช่น จากรายการโทรทัศน์ที่เป็นภาษาอังกฤษแล้วพากย์เป็นภาษาไทย หรือมีคำบรรยายเป็นภาษาไทยก็ตาม ครั้งหนึ่งผู้เขียนดูหนังฝรั่งซึ่งในเรื่องนางเอกป่วยด้วยโรคประหลาดอย่างหนึ่ง ทางบ้านจึงส่งคนไปตามนักฟิสิกส์เพื่อมารักษา ผู้เขียนคิดสักครู่ก็พออนุมานการได้ว่า นักฟิสิกส์ คงแปลมาจาก
physician ซึ่งที่จริงแปลว่าแพทย์เช่นเดียวกับ doctor ส่วนคำย่อ G.P. นั้นมาจาก general practitioner คือ หมอซึ่งรักษาโรคทั่วไปด้วยยา แต่ถ้าหากต้องการคำว่านักฟิสิกส์คำที่ถูกต้องคือ physicist และเมื่อกล่าวถึง doctor แล้วในภาษาอังกฤษนั้นเป็นคำเรียกผู้ที่เป็นแพทย์โดยที่ไม่จำเป็นต้องตามด้วยชื่อ แต่คนไทยนิยมเรียกผู้ที่จบปริญญาเอกว่าด็อกเตอร์เฉยๆโดยไม่ได้ตามด้วยชื่อ ในภาษาไทยอาจจะอนุโลมกัน แต่ในภาษาอังกฤษจะเรียกด็อกเตอร์ปริญญาเอกแล้วตามด้วยชื่อสกุล หรือถ้าได้ยินว่าเรียกด็อกเตอร์เฉยๆ ในกรณีนี้ก็อาจเป็นการเรียกแบบจงใจหรือประชดประชัน ถ้าต้องการจะบอกว่าเขาได้ด็อกเตอร์ปริญญาเอกจะบอกว่า He is a doctor. ไม่ได้ ต้องบอกว่า He is a Ph.D. จึงจะถูกต้อง

ภาพยนตร์บางเรื่องที่เกี่ยวกับการรบการทหารอาจจะได้ยินว่ามีการส่งกองทหารไปเป็นหมื่นเป็นแสนกอง ซึ่งคงแปลมาจากคำ troops ที่มักจะฝังใจจดจำกันว่าต้องแปลว่ากองทหารเสมอไป ทั้งที่คำนี้แปลว่าตัวทหารเป็นคนๆ ได้เช่นเดียวกับคำว่า soldiers และถ้าบอกว่า The troops were heavily-armed. จะเห็นได้ชัดว่าแปลว่ากองทหารไม่ได้ และ heavily-armed ก็แปลว่า มีอาวุธครบมือ ไม่ใช่อาวุธหนักซึ่งอาจหมายความว่าคงจะต้องลากปืนครกยกปืนใหญ่กันไปด้วย

คำคู่หนึ่งคือ early กับคำตรงข้ามคือ late ก็มักจะแปลกันว่า เช้าตรู่ และ สาย ตามลำดับอยู่เป็นประจำ ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งตัวละครพูดว่า I waited at the station for over an hour because my train arrived early. แต่คำบรรยายบอกว่า ผมรออยู่ที่สถานีกว่าชั่วโมงเพราะรถไฟที่นั่งมาถึงตอนเช้าตรู่ ทั้งที่ความจริงต้องแปลว่า ... เพราะรถไฟที่นั่งมาถึงเร็ว (กว่ากำหนด) คำ early นี้ถ้าอยู่ในช่วงเช้าจะหมายถึงเช้าตรู่ได้จริง เช่น early in the morning แต่ถ้าเป็น early in the afternoon ก็ต้องแปลว่าตอนบ่ายอ่อนๆ หรือแม้แต่ early in the evening ก็เป็นตอนหัวค่ำ แต่ถ้าเป็นคำ late ในตอนเช้าก็คือตอนสาย ตอนบ่ายก็หมายถึงบ่ายแก่ๆ หรือตอนกลางคืน เช่น late one night ก็ต้องหมายถึง ตอนดึกคืนหนึ่ง เป็นต้น

คำอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจเป็นคำเกี่ยวกับการนอน อีกครั้งหนึ่งผู้เขียนดูภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเรื่องพากย์ก็ได้ยินสามีบอกให้หญิงผู้เป็นภรรยาในเรื่องซึ่งพยายามซักไซ้ฝ่ายชายว่าทำไมจึงกลับดึกดื่น ผู้ชายจึงบอกให้ภรรยาไปที่เตียง ส่วนฝ่ายหญิงก็ตอบไปว่าไม่ง่วงต้องพูดกันให้รู้เรื่องก่อน ผู้เขียนก็คาดเดาว่าที่ผู้ชายพูดคงบอกว่า Go to bed. ซึ่งเป็นสำนวนคือ ไปนอนซะ แต่ถ้าให้ไป ที่เตียงจริงก็พูดได้แต่ต้องมี article นำหน้าคำ bed คือ Go to the bed.

ส่วนคำจริงๆของนอนคือ sleep นั้นก็อาจทำให้เข้าใจไขว้เขวได้เมื่อประกอบกับคำอื่น เช่น sleep late ก็อาจจะแปลโดยอัตโนมัติว่า นอนดึก เพราะคำว่า late แปลได้ทั้งสายและดึก เลยเดาว่าคงเป็นดึกเพราะน่าจะนอนกลางคืนมากกว่า ในภาพยนตร์ฆาตกรรมเรื่องหนึ่งสาวทำความสะอาดห้องพักในโรงแรมมาพบชายสูงวัยยังนอนอยู่บนเตียงทั้งที่สายแล้ว (ความจริงคือชายผู้นี้ถูกฆาตกรรมและนอนตายอยู่บนเตียง) จึงพยายามปลุกให้ตื่นพร้อมกับพูดว่า You didn't say you were going to sleep late. ส่วนคำบรรยายก็แปลว่า คุณไม่ได้บอกว่าจะนอนดึกนี่ ทั้งที่ที่ถูกต้องควรจะแปลว่า คุณไม่ได้บอกว่าจะตื่นสายนี่ เพราะ sleep late แปลว่า (นอน) ตื่นสาย เช่นเดียวกับ sleep in ซึ่งยังมีความหมายว่า พักนอนที่สถานที่ทำงาน ด้วย

I sleep late on Sunday.

หรือ

I sleep in on Sunday.

ฉันนอนตื่นสายวันอาทิตย์

ถ้าต้องการบอกว่าเข้านอนดึกต้องพูดว่า go to bed late ในขณะที่นอนหลับไปตอนดึกจะเป็น go to sleep late ดังนั้นถ้าคุณแม่สั่งให้ลูกไปนอนจะบอกว่า

It's time for you to go to bed.

ได้เวลาลูกเข้านอนแล้ว

แต่ถ้าลูกอยู่บนเตียงแล้วจะบอกให้หลับเสียก็จะบอกว่า

Now, go to sleep darling.

เอ้าหลับซะลูกรัก

หรือ

I went to bed at ten, but didn't go to sleep until midnight.

ฉันเข้านอนตอนสี่ทุ่ม แต่ไม่หลับจนเที่ยงคืน

ถ้าก่อนนอนจะบอกว่าให้ หลับให้สนิท อาจจะบอกว่า Sleep tight. ซึ่งผู้เขียนเคยได้ยินผู้แปล ว่า นอนกอดกันแน่นๆ เพราะบังเอิญมีเด็กนอนเตียงเดียวกันสองคน

คำที่เกี่ยวเนื่องกับการนอนยังมีคำ oversleep ซึ่งไม่ใช่แปลว่านอนมากเกินไป แต่มีความหมาย ว่านอนนานกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ตื่นตามเวลาที่ต้องการจะตื่น

This morning I was late for my 8 oclock class because I overslept.

เมื่อเช้าฉันไปเรียนชั่วโมง 8 โมงสาย เพราะนอนตื่นสาย (โดยไม่ตั้งใจ)

แต่ถ้าพบคำว่า sleeping policeman ก็อย่าได้เข้าใจผิดว่าเป็นตำรวจนอนหลับในหน้าที่เพราะแปลว่า เครื่องที่วางกีดขวางบนถนนเพื่อให้รถแล่นช้าๆ เช่นไม้ที่วางพาดถนน ที่เรียกเช่นนี้น่าจะมาจากความคิดที่ว่าสิ่งกีดขวางนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นตำรวจที่คอยไม่ให้รถแล่นเร็วในเขตที่ต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุ และถ้าพูดถึงการขับรถเร็ว (กว่าอัตราที่กำหนด) จะใช้คำว่า speed ไม่ใช่ drive too fast

He was arrested and fined for speeding.

เขาถูกจับและถูกปรับฐานขับรถเร็ว

แต่ถ้าพบประโยค When a party is over, the host speeds the parting guests. ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเจ้าภาพรีบเร่งไล่ให้แขกกลับไปเร็วๆ แต่แปลว่า เมื่องานเลี้ยงเลิกเจ้าภาพ (หรือเจ้าของบ้าน) จะอวยชัยให้พรแขกที่ทยอยกลับ แต่คำ speed ที่ใช้ในความหมายอวยชัยให้พรนี้ออกจะเป็นการใช้ที่ค่อนข้างโบราณ

ยังมีคำที่ใช้กับ sleeping เช่น sleeping partner ซึ่งยังอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อไปได้อีกโดยทำให้คิดว่าเป็น คู่นอน แต่แท้จริงหมายถึง หุ้นส่วนที่ไม่ได้มีส่วนบริหารงาน เหมือนนอนอยู่เฉยๆ แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกันจะใช้ silent partner

ในหนังสือรายการโทรทัศน์เคยเสนอเรื่องย่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งว่าเกี่ยวกับ มนุษย์ต่างดาว ซึ่งเข้ามาในสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย ผู้เขียนอ่านแล้วไม่เข้าใจจนกระทั่งได้ดูภาพยนตร์ถึงทราบว่าเกี่ยวกับ คนต่างด้าว ซึ่งผิดกับต่างดาวตรงวรรณยุกต์เท่านั้น เราอาจดูภาพยนตร์เกี่ยวกับ มนุษย์ต่างดาว คือคำว่า alien มากจนเห็นคำนี้ที่ใดก็ต้องแปลว่ามนุษย์ต่างดาวทุกครั้งไป และในหนังสือเล่มเดียวกันก็แปลคำ minister ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งว่าเป็น รัฐมนตรี ทั้งที่ตัวละครในเรื่องเมื่อดูแล้วจะมีแต่พระฝรั่ง พระที่เรียกว่า minister นี้จะเป็น พระในคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ ในขณะที่นิกายโรมันคาทอลิกเรียกว่า priest

นอกจากนี้ยังมีคำ secretary ซึ่งโดยปกติมักหมายถึง เลขานุการ แต่ถ้าเป็นบุคคลใหญ่โตก็มักจะแปลให้ฟังดูตำแหน่งสูงขึ้นว่า เลขาธิการ ซึ่งในบางครั้งเป็นการแปลผิดถนัด เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาผู้ที่เป็น รัฐมนตรี จะไม่เรียกว่า minister อย่างในประเทศไทย แต่เรียกว่า secretary เช่น Defence Secretary ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม State Secretary หรือ Secretary of State ซึ่งบางทีแปลผิดๆว่า เลขาธิการรัฐ หรือถ้าดีกว่านั้นก็แปลรัฐมนตรีได้ แต่ยังเข้าใจ State ว่าเป็นอะไรที่เกี่ยวกับรัฐหรือบ้านเมือง เลยนึกว่าเป็น กระทรวงมหาดไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว Secretary of State คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส่วน กระทรวง ของสหรัฐอเมริกานั้นเรียกว่า department เช่น State Department ก็คือกระทรวงการต่างประเทศ Treasury Department คือกระทรวงการคลัง เป็นต้น

นอกจากคำที่ผู้เขียนมีประสบการณ์เองว่าผู้ใช้ภาษาอังกฤษมักแปลผิดๆ ยังมีคำอื่นที่เมื่อดูจากรูปคำและเมื่อประกอบกับคำอื่นๆแล้วก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย เช่นคำ company ซึ่งนอกเหนือจากความหมายที่คุ้นกันดีว่า บริษัท แล้ว คำนี้ยังแปลว่า ความเป็นเพื่อนหรือแขก ได้

I'll keep you company until your husband comes back.

ฉันจะอยู่เป็นเพื่อนคุณจนกว่าสามีคุณจะกลับ

We are having company this evening.

เราจะมีแขกมาที่บ้านเย็นนี้ (มักนิยมใช้ company มากกว่า guests)

ตัวอย่างทั้งสองข้างต้นนั้นอาจจะแปลเป็นบริษัทได้ยาก แต่ถ้าพูดว่า I don't care for his company. ประโยคนี้อาจจะนึกว่า ฉันไม่สนบริษัทของเขา เพราะประโยคอำนวยให้คิดเช่นนั้น แต่ปกติประโยคนี้น่าจะอยู่ในปริบทซึ่งให้ความหมายว่า ฉันไม่สนจะให้เขาอยู่ด้วย คือถ้าเขามาอยู่ใกล้ๆกับเรา เราจะรู้สึกอึดอัดมากกว่าสบายใจ เป็นต้น


ประโยคที่อาจทำให้งงกับหลักเหตุผลทั้งที่คำทุกคำก็แปลได้เช่น ประโยค
He was satisfied that his wife was murdered. ผู้เห็นประโยคนี้คงจะเห็นว่าสามีคนนี้ไม่จริงใจ อาจนอกใจภรรยาหรือหวังสมบัติของภรรยาหรืออย่างไร จึงพออกพอใจที่ภรรยาถูกฆาตกรรม บังเอิญคำข้างเคียงก็เป็นใจให้คิดเช่นนั้น แต่ความหมายที่ถูกต้องคือ (เมื่อประมวลจากหลักฐานต่างๆ) เขาเชื่อแน่เลยว่าภรรยาถูกฆาตกรรม ซึ่งไม่ใช่การตายจากสาเหตุธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรือฆ่าตัวตาย

ถ้าภรรยาของเขาก่อนถูกฆาตกรรมอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงหรือหมิ่นเหม่ต่อการเสียชื่อเสียง อาจพูดว่า His wife was in a compromising situation. ซึ่งไม่ได้แปลว่าอยู่ในสถานการณ์ รอมชอมอะไรเลย

ถ้าเกิดเห็นคำว่า streetwalker ก็อย่าได้ด่วนแปลว่าคนเดินถนน เพราะคำนี้แปลว่า โสเภณี หรือ prostitute เช่นเดียวกับคำสแลง เช่น hooker หรือ cruiser หรือ hustler หรือแม้แต่ sporting girl ซึ่งถ้าไม่ระวังจะนึกว่าเป็นสาวใจสปอร์ตกล้าได้กล้าเสีย ซึ่งก็อาจมีความหมายเช่นนั้นจริงๆ เพราะอาชีพนี้คงต้องใจถึงอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าผู้พูดเป็นหญิงและเป็นคนใจสปอร์ตหรือที่เรียกว่ามีน้ำใจนักกีฬาก็ไม่ต้องพูดว่า I'm a sporting girl. เพราะอาจเกิดอันตรายโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากถูกเข้าใจ ผิด แต่ถ้าต้องการใช้ความหมายคนเดินถนนหรือเดินเท้าต้องใช้คำ pedestrian ส่วน jaywalker คือคนเดินเท้าที่เดินเปะปะไม่ทำตามกฎจราจร ไม่ข้ามตรงทางข้าม และการกระทำเช่นนั้นเรียกว่า jaywalking

เมื่อกล่าวถึงคนสวยคนงามหรือคนขี้เหร่อาจใช้คำว่า well-favored สำหรับผู้ที่มีหน้าตาดี ซึ่งดูจากรูปคำแล้วน่าจะแปลว่าได้รับการเอื้อในทางที่ดี แต่การที่มีหน้าตาดีก็เปรียบเสมือนกับพระเจ้า เอื้ออำนวยได้เหมือนกัน ในขณะที่ ill-favored ก็เป็นคำตรงข้ามหมายถึงหน้าตาขี้ริ้ว เช่นเดียวกับคำ homely ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์แปลว่าขี้เหร่ คำ homely นี้มักมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าแปลว่าเป็นคนรักบ้านหรืออยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ซึ่งถ้าต้องการพูดเช่นนั้นจะต้องใช้คำว่า homebody

He is a homebody.

เขาเป็นคนชอบอยู่กับบ้าน

นอกจากนั้นยังมีคำเกี่ยวกับลักษณะหน้าตา เช่น sorry-looking เป็นคำคุณศัพท์ ซึ่งเมื่อเทียบหน้าที่ของคำแล้วน่าจะแปลว่า หน้าตาเศร้าเสียใ อย่างเช่น good-looking ซึ่งแปลว่าหน้าตาดี แต่ sorry-looking กลับแปลว่าอะไรก็ตามที่ดูแล้วเกิดความเสียใจ คือดูแล้วไม่เจริญนัยน์ตา และคำว่า eyesore ก็ไม่ใช่อาการเจ็บตา แต่เป็นอะไรที่ดูแล้วน่าเกลียด เช่น

That garbage heap in her lawn is an eyesore.

กองขยะในสนามหญ้าของเธอเป็นสิ่งรกตา

คำว่า inside มีความหมายว่าภายใน แต่เมื่อเป็น inside job ไม่ได้แปลว่างานที่ทำอยู่ภายใน หรืออยู่ในที่ร่ม แต่หมายถึงอาชญากรรมที่คนในรู้เห็นเป็นใจหรือทำเสียเอง ประเภทที่เรียกว่าเกลือเป็นหนอน เช่น

The bank robbery was an inside job.

การปล้นธนาคารนั่นเป็นฝีมือของคนใน

แต่ outside job กลับหมายถึงงานที่ทำนอกเหนือไปจากงานประจำ คืองานพิเศษ เช่น

His outside job is selling insurance policies.

งานพิเศษของเขาคือขายประกัน

หรือจะใช้ sideline แทน outside job ก็มีความหมายเดียวกันเช่นเดียวกับ moonlighting เช่น

He is away from his school job a lot because he is moonlighting.

เขาไม่ค่อยจะมาทำงานที่โรงเรียนเลยเพราะหาลำไพ่พิเศษ

ส่วนงานที่ทำในร่มจะใช้ an indoor job และงานกลางแจ้งจะใช้ an outdoor job

คำต่างๆที่ยกมากล่าวถึงนี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่ามีคำลวงอยู่ในภาษาอังกฤษที่จะหลอกให้แปลผิดความหมายได้ง่ายๆหากประมาท เป็นเพียงเครื่องช่วยเตือนใจให้ระมัดระวังว่าอย่าเชื่อสิ่งที่ได้ยินได้เห็นในทันที ต้องพิจารณาและตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนจะได้ไม่แปลอะไรออกมาแล้วสร้างความเข้าใจผิด ทำให้เกิดอารมณ์ขบขันหรือไม่ก็เกิดอารมณ์หงุดหงิดในผู้อื่น และผู้แปลเอง (หากมีโอกาสค้นพบความจริง) อาจต้องมานึกเสียใจภายหลังว่าไม่น่า ปล่อยไก่ ตัวใหญ่ออกมาเลย

สุดท้ายนี้ผู้เขียนใคร่เรียนให้ทราบว่า บทความที่เกิดขึ้นนี้ส่วนใหญ่ข้อมูลต่างๆที่นำเสนอได้มาจากการเรียนรู้และการสังเกตส่วนตัว และจากการใช้ภาษาอังกฤษจนเคยชินพอสมควรจนพอจะทราบว่าที่ถูกต้องควรใช้อย่างไร จึงใคร่แบ่งปันประสบการณ์กับผู้ร่วมใช้ภาษาอังกฤษด้วยกัน ผู้เขียน ใคร่ขอบคุณอาจารย์ Michael Crabtree และอาจารย์ปทมา อัตนโถ เป็นอย่างสูงที่กรุณาช่วยอ่านบทความนี้เพื่อให้ความเห็นและแก้ไขสิ่งที่ผู้เขียนอาจเขียนพลาดไป

5 ความคิดเห็น:

  1. ข้อความนี้นี้มีประโยชน์อย่างมาก อาตมาขออนุโมทนาและชื่นชมกับเจ้าของบล้อกที่มีความพยายามในการเผยแผ่องค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับสาธารณชนได้อ่านและมีความรู้ ขอให้โยมอจงประสบแต่ความสุขความเจริญในชีิวิตสืบไปสำเร็จสิ่งที่ประสงค์ ตลอดกาลนานเทอญ สาธุ ฯ

    พระมหานิวัติชัย อติวิชโย
    http://www.facebook.com/Sangdhamma2013
    http://www.sangdhamma.com

    ตอบลบ
  2. สงสัยว่าทำไมมีผู้เข้ามาอ่านน้อย และทิ้งระยะเวลานานมาก

    ตอบลบ
  3. วันเวลาไม่ตรงนะครับ วันนี้ 8 สิงหาคม 2556

    ตอบลบ
  4. เยี่ยมครับ

    ตอบลบ